ที่มาของชื่อ "ไหฮอง" ของ หยง_แซ่แต้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง [海豐] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1]

ชูสิริ จามรมาน กล่าวว่า "...การที่ผู้เขียนประวัติเอาชื่ออำเภอเป็นชื่อคนดังกล่าว อาจเป็นความคิดของพระบิดาพระเจ้าตากสินเองก็ได้ เพราะบอกชื่อที่อยู่ไว้ยังพอไปสืบเสาะบรรพบุรุษเอาได้ หากใครคิดจะสืบเสาะ ตัวบอกเพียงชื่อตัวและแซ่อาจจะหากันไม่เจอ เพราะชื่อแซ่ซ้ำกันมากเหลือหลาย พระบิดาของพระเจ้าตากสิน แซ่แต้ [鄭] ซึ่งจีนปักกิ่งออกเสียงเป็น เจิ้ง คนแซ่แต้มีอยู่นับไม่ถ้วนในแต้จิ๋ว..."[6]

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายไว้ในหนังสือคืนถิ่นจีนใหญ่ว่า "...คำว่า ไหฮอง เป็นภาษาจีนกลางอ่านว่า "ไห่เฟิง" เป็นตำบลอยู่ทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางไปทางเท่งไฮ้ ([滕海] ชื่ออำเภอ ๆ หนึ่ง) ไปเสิ่นเจิ้น..."[7] ที่เริ่มกล่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นคนเท่งไฮ้[8] นั้นมาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York : Cornell University Press, 1975) ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารจีนราชวงศ์เช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง

แต่ พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส ได้ให้คำอธิบายชื่อ ไหฮอง ดังนี้ "...เป็นนามของ พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นจีน ไหหลำ แน่นอน เห็นได้จากคำว่า "ไห" ซึ่งเป็นแซ่หนึ่งของจีนไหหลำ จากการสอบถามชาวจีนเขาบอกว่า แซ่ห่าน แซ่ฮู้ แซ่ไห จีนพวกอื่นเช่น แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี๋ยน อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น มีแต่จีนไหหลำพวกเดียว อนึ่งคำว่า "ไหหลำ" เข้าใจว่าเป็นคำเพี้ยน ที่ถูกจะต้องเป็น "ไหหนำ" [海南] ซึ่งแยกศัพท์แล้ว "ไห" แปลว่า "ทะเล" "หนำ" แปลว่า "ใต้" รวมแล้วแปลว่า "ทะเลใต้" ถ้าคิดถึงสถานที่อาจมุ่งความว่า "เกาะทะเลใต้"..."[9]

ในหนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ อันเป็นสมุดไทย กระดาษข่อยขาว ตัวหมึก รวม 2 เล่ม (เป็นสมบัติของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์) กล่าวว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชื่อ ไหฮอง มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ (นายอากรบ่อนเบี้ย) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ กอปรด้วยทาสชายหญิง ได้ไปพึ่งบารมีท่านเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กำแพงพระมหานครศรีอยุธยา คำว่า "ฮอง" หรือ "ฮง" เป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาษาปักกิ่งอ่านว่า "ฟง" หรือ "เฟิง"